อุบัติเหตุทางถนนก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถทางไกลที่ผู้ขับขี่อาจมีอาการอ่อนเพลียและเกิดความเสี่ยงได้มากกว่าระยะทางใกล้ สินมั่นคงประกันภัยจึงมีเทคนิคการขับรถทางไกลเพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนถนนมาฝากกันค่ะ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการขับรถระยะทางไกลในบางเส้นทางเป็นการขับรถทางตรงที่มีระยะทางยาวและต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการหลับในระหว่างขับรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่อาจเกิดภาวะน้ำตาลตก หรือวูบหลับขณะหลับรถได้เช่นกัน
- งดรับประทานยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่มไข้หวัด ภูมิแพ้ ลดน้ำมูก ที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม จนเป็นเหตุให้วูบหลับขณะขับรถได้ ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาดังกล่าว อาจเลือกใช้ตัวยาที่ไม่มีผลต่อระบบประสาท แต่อาจมีราคาสูงและมีประสิทธิภาพไม่ทัดเทียมกับตัวยาที่ทำให้ง่วงซึม
- งดการดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิด ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ระบุว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีระดับแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม ต้องจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ เพิกถอนใบขับขี่ พร้อมทั้งยึดรถได้ไม่เกิน 7 วัน นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลต่อสติ สัมปชัญญะ และสมรรถภาพในการขับขี่ได้อีกด้วย
- แวะพักรถหรือเปลี่ยนคนขับ การเดินทางไกลทุกครั้ง จำเป็นจะต้องมีการแวะพักรถตามจุดพักรถอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง หรือ 110 กิโลเมตร เพื่อให้คนขับได้มีการยืดเส้นยืดสายและผ่อนคลายอิริยาบถ หรือหากมีสมาชิกที่จะมาเป็นผู้ช่วยในการขับรถก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ แต่ควรเลือกผู้ที่มีความชำนาญในการขับรถทางไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน
- เครื่องดื่มเพื่อความสดชื่น การพกน้ำเปล่าติดรถไว้เป็นสิ่งที่คนขับรถทางไกลควรปฏิบัติจนคุ้นชิน เพื่อเพิ่มความสดชื่นระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้การดื่มน้ำเปล่ายังมีส่วนช่วยในการลดอาการอุดตันของเส้นเลือดดำที่ขา อันเกิดจากการนั่่งขับรถเป็นระยะเวลานานได้อีกด้วย หรืออาจเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่าและเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
- จัดท่านั่งให้เหมาะสม ทั้งการปรับระดับที่นั่ง การปรับระดับพวงมาลัย และการปรับระดับกระจกมองข้างให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ขับขี่ มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดอาการเมื่อยขบตามร่างกาย และสามารถนั่งขับรถได้เป็นระยะเวลานาน อีกหนึ่งเทคนิคที่บอกต่อกัน คือ หากสามารถเหยียดแขนได้ตึงในระยะจับพวงมาลัย ก็จะเป็นระยะของเบาะนั่งที่เหมาะสมกับคนขับ
ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันภัย