ผู้เขียน | ข้อความ | ||
---|---|---|---|
smanpruksa
เขียนกระทู้: 82
ตอบกระทู้: 0
พลังน้ำใจ: 0
(ขอบคุณ)
|
การขับรถเดินทางไกลเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าจนเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับรถ (Drowsy driving) หรือ "หลับใน" ได้ โดยพบว่า 1 ใน 25 ของผู้ขับรถพบปัญหาง่วงขณะขับขี่ และพบว่าผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยหลับในขณะขับรถซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะในเวลาเพียง 4 วินาที หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. จะทำให้รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตรโดยที่ไม่มีคนควบคุม หากมีการชนจะรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และผู้ร่วมทางได้ สินมั่นคงประกันรถยนต์ มีสัญญาณเตือนก่อนเกิดอาการ “หลับใน” มาเตือนใจให้ระวังกันดังนี้
ภาวะง่วงนอนขณะขับรถ (Drowsy driving) หรือหลับใน “การหลับใน” คือ การหลับในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงชั่ววูบเดียว เป็นภาวะที่ร่างกายมีการทำงานลดลงหรือช้าลง มีการสับสนระหว่างการหลับในและการตื่น โดยมีการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 1-2 วินาที “การหลับใน” ยังเป็นอันตรายเช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะผลต่อการทำงานของสมองส่วนประมวลผล ทำให้การตัดสนใจแย่ลง และการตอบสนองช้าลง นักวิจัยพบว่า การอดนอนเป็นเวลา 17-19 ชั่วโมง เปรียบเหมือนร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.05 (ตามกฎหมายเท่ากับ 0.08 ถือว่าเมาขณะขับขี่) หมายความว่าหากเราอดนอน 24 ชั่วโมงแล้วไปขับรถก็อาจเท่ากับว่าว่าเรามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.10 เลยทีเดียว ดังนั้นก่อนขับขี่เราต้องจำไว้ว่าการอดนอนเป็นอันตรายในการขับขี่
ช่วงเวลาที่พบการเกิดอุบัติเหตุจาก “หลับใน” มีสองช่วง ได้แก่ ช่วง 24.00-08.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และช่วง 13.00-15.00 น. ดังนั้น ถ้าต้องขับขี่ในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องคอยระมัดระวังการขับขี่ให้มากขึ้น ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และควรได้รับการนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
8 สัญญาณเตือนก่อน “หลับใน” เมื่อเกิดสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรหยุดแวะพักผ่อนเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ 1. หาวบ่อยและต่อเนื่อง 2. กระพริบตาถี่ ๆ ลืมตาไม่ขึ้น 3. มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร 4. ใจลอยไม่มีสมาธิ 5. รู้สึกหนักศีรษะ หงุดหงิด กระวนกระวาย 6. ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง 7. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 8. ขับจี้ติดรถคันหน้าหรือฝ่าไฟแดงโดยไม่รู้ตัว
“หลับใน” ป้องกันได้อย่างไร? 1. นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง อย่างน้อย 2 คืนก่อนวันเดินทาง จากการศึกษาพบว่า ผู้ขับขี่ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนนอนเต็มอิ่มถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
2. ทานอาหารแต่พอดี อย่ากินอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเพียงนิดเดียว ก็มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไปสู่การหลับในเฉียบพลันได้
4. ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ควรงดกินยาระงับประสาท ยาแก้ปวด ยาแก้ หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นยารักษาโรคที่ต้องกินเป็นประจำ ให้ขอคำปรึกษาแพทย์กับโดยตรงหรือขอปรับยาเป็นตัวที่ไม่มีผลข้างเคียงแทน
5. จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย
6. งดดื่มกาแฟ น้ำอัดลม ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง ก่อนเดินทาง 2-3 วัน เพราะอาหารเหล่านี้มีคาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับสนิท
7. แวะพักระหว่างทาง เมื่อต้องเดินทางไกลควรหยุดพักทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือทุก 160 กิโลเมตร เพื่อล้างหน้าล้างตา ยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา หรือหากผู้ขับขี่รู้สึกง่วง ควรตั้งนาฬิกาปลุกแล้วงีบหลับสัก 20-30 นาที วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหลับในได้ดี
8. หลีกเลี่ยงการขับขี่ในช่วงเวลา 24.00-07.00 น. เนื่องจากช่วงนี้เป็นเวลาที่ร่างกายคุ้นเคยกับการนอนหลับในเวลานี้ ดังนั้นในระหว่างขับขี่อาจเกิดอาการง่วงซึมหรือหลับในได้
9. พาเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย สามารถสลับกันขับเมื่อเกิดอาการอ่อนเพลีย หรือช่วยพูดคุยกระตุ้นสมองให้ทำงานตลอดเวลา และช่วยดูการขับขี่และเตือนคุณเมื่อมีอาการอ่อนเพลียอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันรถยนต์ กระทู้อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
|
||