ถนนในประเทศไทย มีกี่ประเภท และมีใครดูแล ?

ผู้เขียนข้อความ

smanpruksa

member
เขียนกระทู้: 82
ตอบกระทู้: 0
พลังน้ำใจ: 0 (ขอบคุณ)
28 สิงหาคม 2563 16:41 - อ่าน: 2,839 - ตอบ: 0

รถยนต์ก็ต้องคู่กับถนน คนใช้รถก็คงคุ้นเคยกับเส้นทางที่ใช้อยู่ทุกวันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะใครที่ต้องออกเดินทางไปตามต่างจังหวัดบ่อย ๆ คงจำชื่อถนนต่าง ๆ และหมายเลขถนนได้เป็นอย่างดี แต่ถนนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีกี่ประเภท และมีหน่วยงานไหนดูแล อาจยังเป็นคำถามกันอยู่ วันนี้มาหาคำตอบให้หายสงสัยกัน ว่าเส้นทางที่เราใช้อยู่กันนั้นเป็นถนนประเภทไหน? และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด?

ทางหลวงในประเทศไทย แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?

ทางหลวงแบ่งออกเป็น 5 ประเภท โดยทางหลวงในประเทศไทยจะอยู่ในความควบคุมดูแลของ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ, ทางหลวงแผ่นดิน, ทางหลวงชนบท, ทางหลวงท้องถิ่น ( ทางหลวงในเขตเทศบาล, ทางหลวงสุขาภิบาล) และ ทางหลวงสัมปทาน

1. ทางหลวงพิเศษ

คือ ทางหลวงที่ได้ออกแบบเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ โดยมีรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้เป็นทางหลวงพิเศษ และกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ บำรุงรักษา รวมถึงมีการควบคุมจุดเข้าออกของรถยนต์ และจัดเก็บค่าผ่านทาง (ป้ายสีน้ำเงิน) และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ "มอเตอร์เวย์" นั้นเอง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 7 - กรุงเทพ – ชลบุรี - ระยะทาง 153 กิโลเมตร , ทางหลวงหมายเลข 9 หรือ ถนนกาญจนาภิเษก ระยะทาง 165 กิโลเมตร และยังมีโครงการทางหลวงพิเศษเส้นทางอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังอยู่ในการก่อสร้าง เช่น ทางหลวงพิเศษ หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา

2. ทางหลวงแผ่นดิน

คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ที่กรมทางหลวง เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็น ทางหลวงแผ่นดิน จะมีหมายเลขกำกับ แบ่งเป็นหมวดหมู่ตัวเลขตั้งแต่หนึ่งหลักจนถึงสี่หลัก

ทางหลวงที่มีหมายเลขตัวเดียว คือ ทางหลวงหลักที่เริ่มต้นจากกรุงเทพเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ มีเส้นทางหลักอยู่ 4 เส้นทาง คือ ได้แก่

  • ถนนพหลโยธิน - ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
  • ถนนมิตรภาพ - ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2
  • ถนนสุขุมวิท - ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3
  • ถนนเพชรเกษม- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4

นอกจากนี้ยังมีถนนทางหลวงที่มีเลขสองหลัก คือ เส้นทางสายประธานที่จะเชื่อมจากทางหลวงหลักแยกผ่านออกไปสู่พื้นที่สำคัญในแต่ละจังหวัด, ทางหลวงที่มีเลขสามหลักเป็นทางหลวงสายรองประธานที่จะเชื่อมต่อจากทางหลวงเลขตัวเดียวหรือสองตัว เพื่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยอีกที และทางหลวงที่มีเลขสี่หลัก เป็นทางสั้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยในแต่ละอำเภอ

3. ทางหลวงชนบท

คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาล และเขตสุขาภิบาล ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษาและได้ลงทะเบียน อธิบดีกรมทางหลวงชนบทจะเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวงชนบท ไว้เป็นทางหลวงชนบท จะเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ในแต่ละจังหวัด โดยบนป้ายทางหลวงชนบทจะประกอบด้วยตัวอักษรย่อของจังหวัด 2 ตัว และเลข 4 ตัวมาใช้กำกับ

4. ทางหลวงท้องถิ่น

เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการเชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล หรือเทศบาล ซึ่งทางหลวงท้องถิ่นทั่วประเทศไทยมีระยะทางรวม 352,465 กิโลเมตร บนป้ายทางหลวงท้องถิ่นจะประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัว และตัวเลข 5 หลักกำกับไว้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

4.1 ทางหลวงเทศบาล

คือ ทางหลวงในเขตเทศบาล ที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงเทศบาล นายกเทศมนตรีเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ สำนักงานเทศบาล โดยอนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัด

4.2 ทางหลวงสุขาภิบาล

คือ ทางหลวงในเขตสุขาภิบาลที่สุขาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียน ประธานกรรมการสุขาภิบาล เป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ สำนักงานสุขาภิบาล โดยอนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดไว้เป็นทางหลวงสุขาภิบาล

 

5. ทางหลวงสัมปทาน

คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน เป็นทางหลวงที่กรมทางหลวงได้ให้เอกชนรับสัมปทาน ทางหลวงสัมปทานจะมีระบบตัวเลขเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษ ขึ้นอยู่กับลักษณะของทางหลวงสัมปทานนั้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันมีทางหลวงสัมปทาน 1 เส้นทาง คือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เฉพาะช่วงทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง บนถนนวิภาวดีรังสิต

 

นอกจากทางหลวง 5 ประเภท ดังกล่าวแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบในการก่อสร้าง และบูรณะ ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการดำเนินการก่อสร้างทางเฉพาะกิจของหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันภัย ...ประกันรถ ประกันเวลา… 

กระทู้อื่นๆที่เกี่ยวข้อง


ตอบกระทู้ด่วน

กรุณาล็อคอินก่อนทำการตอบกระทู้นี้
สมัครสมาชิก หรือ ล็อคอิน